in , ,

FundRadars แอปพลิเคชันเปลี่ยนเรื่อง กองทุน ให้เป็นเรื่องง่าย

บางคนอาจคิดว่าเรื่อง “หุ้น” หรือ “กองทุน” เป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนมีเงินล้านเขาคุยกัน แต่แท้จริงแล้วการลงทุนเป็นเรื่องของทุกคน สามารถเริ่มได้ตั้งแต่เงินหลักพันบาท และทางแอปพลิเคชัน FundRadars จะสรุปข้อมูลกองทุนทั้งหลายให้เป็นเรื่องง่าย สำหรับทุกคน

FundRadars (1)

ทำไมต้องกองทุน

โดยปกติหากเราต้องการให้เงินทำงาน เราก็จะนิยมเอาเงินไปฝากธนาคาร ข้อดีก็คือความเสี่ยงต่ำแต่ข้อเสียก็คือผลตอบแทนจะน้อยตามลงมา แต่หากเอาไปลงทุนทางตรงก็จำเป็นต้องใช้ความรู้ที่มากหน่อย ในการติดตามผลประกอบการ, งบการเงิน, และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

แต่สำหรับกองทุนก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดี (อ่าว …) แต่เป็นการประหยัดเวลาของผู้ลงทุน โดยเราจะมอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (ผู้จัดการกองทุน) ซึ่งมีความรู้ความชำนาญมากกว่า รวมถึงมีการตรวจสอบที่รัดกุม ซึ่งตรงจุดนี้จะเป็นคนรักษาผลประโยชน์แทนเรานั่นเอง

FundRadars (2)

ประเมินความเสี่ยง

ในตลาดแบ่งกองทุนออกเป็นหลากหลายประเภท ตั้งแต่กองทุนตราสารหนี้ (General Fixed Income Fund) ซึ่งเป็นการที่กองทุนเอาเงินไปฝากธนาคารบ้าง, ซื้อพันธบัตรบ้าง, ตลอดจนหุ้นกู้ของเอกชนที่น่าเชื่อถือ โดยจะมีความเสี่ยงต่ำมาก และได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากธนาคารเล็กน้อย และสำหรับคนที่ยังไม่รู้สไตล์การลงทุนของตัวเอง ว่าเป็นคนยอมรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน ลองทำ แบบประเมินความเสี่ยง ดูก่อนได้ครับ

ระดับความเสี่ยง (Risk Spectrums) จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 8 ระดับ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะขึ้นอยู่กับอายุ และสถานภาพทางการเงินของผู้ลงทุนเองด้วย ทีนี้พอเข้าใจแล้วว่าความเสี่ยงของกองทุนเป็นอย่างไร จากนั้นก็เลือกจับคู่กับกองทุนที่มีความเสี่ยงตรงกับตัวเรา หลังจากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอน “หาข้อมูล” เพื่อลงทุนกันได้เลย

FundRadars (3)

FundRadars ช่วยค้นหากองทุนที่ใช่!

ตอนนี้แอปพลิเคชันมีให้ดาวน์โหลด (ฟรี) ทั้งบน Android และ iOS ซึ่งจัดทำโดยทีมงาน StockRadars ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง (เพียงแต่อันนี้เป็นเรื่องของกองทุนเพียงอย่างเดียว) จุดเด่นของ FundRadars ก็คือการใช้ “เรดาร์” ในการค้นหากองทุนตามที่เราต้องการ มีข้อมูลและเปรียบเทียบผลตอบแทน ในแต่ละช่วงเวลาให้พร้อมทั้งสถิติสำคัญ ด้วยเวลาเพียง 3 นาที !

FundRadars (4)

เริ่มใช้งาน FundRadars หน้าตาจะเป็นอะไรที่เรียบง่ายมาก ง่ายถึงขนาดไม่จำเป็นต้องมีคู่มือแนะนำการใช้งาน โดยหน้าแรกบนสุดจะมีบทความแนะนำนิดหน่อย ถัดมาจะสามารถเรียงดูรายละเอียดได้ตั้งแต่

  • 1 วัน
  • 1 เดือน
  • 3 เดือน
  • 6 เดือน
  • ตั้งแต่ต้นปี
  • 1 ปี
  • 3 ปี
  • 5 ปี

เพื่อที่ว่าเราจะได้ดูแนวโน้มของราคากองทุน และผลประกอบการย้อนหลังว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งบางกองทุนอาจมีราคาขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะปัจจัยบางอย่าง แต่ถ้ามองภาพรวมแล้วราคากำลังลงก็เป็นได้

FundRadars (5)

นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกดูเป็นรายตัว เพื่อดูราคาย้อนหลังในรูปแบบ “กราฟ” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่นักลงทุนควรเข้าใจก็คือ ผลประกอบการณ์ในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันถึงอนาคต (อยู่ดี) ยกตัวอย่าง KT-INDIA หากดูย้อนหลังไปปีที่แล้วราคาปรับขึ้น 78.98% แต่หากมองภาพรวม 5 ปี ราคาปรับมาเพียง 0.27% เป็นต้น

FundRadars (6)

สำหรับใครที่มีชื่อกองทุนในใจอยู่แล้ว ก็สามารถค้นหาได้เลย … แต่สำหรับมือใหม่กองทุน (ซึ่งส่วนมากจะเป็นมนุษย์เงินเดือน) เราจะมาแนะนำสองอันที่ใกล้ตัวกันก่อนได้แก่ “RMF” และ “LTF” เพราะได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีนั่นเองครับ

FundRadars (8)

1. RMF

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) คือ กองทุนระยะยาวมากถึงมากที่สุด วัตถุประสงค์สำหรับใช้ออมเงินระยะยาว เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายยามเกษียณคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) นั่นเองครับ

ข้อดี คือ เงินที่ซื้อสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริง โดยสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น รวมถึงกำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุน ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้อีกด้วย

ข้อเสีย คือ ต้องลงทุนทุกปีเป็นเงิน 3% ของรายได้หรือ 5,000 บาท (แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะต่ำกว่า) และต้องไม่ระงับการซื้อขายเกิน 1 ปีติดต่อกัน (เว้นแต่ปีนั้นไม่มีเงินได้) และขายคืนได้ตอนอายุ 55 ปี และต้องถือหน่วยลงทุนนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี

การลงทุนผ่าน RMF ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากสำหรับมนุษย์เงินเดือน ในการเก็บเงินเอาไว้ใช้งานหลังเกษียณ แถมยังใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย (ยิ่งฐานภาษีสูงยิ่งคุ้มค่า) เพียงแต่ต้องอดทนออมอย่างต่อเนื่องเท่านั้นเองครับ ไม่เหมาะสำหรับคนที่มีแผนจะนำเงินนั้นมาใช้ก่อนเกษียณ

FundRadars (7)

2. LTF

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น และผู้ลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็นแรงจูงใจ

ข้อดี คือ เงินที่ซื้อสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริง โดยสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น รวมถึงกำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุน ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้อีกด้วย แถมไม่จำเป็นต้องถือจนเกษียณเหมือน RMF

ข้อเสีย คือ ต้องซื้อและถือหน่วยลงทุนของ LTF ไว้ไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน หากขายก่อนจำเป็นต้องคืนเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษี พร้อมทั้งดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน รวมถึงต้องจ่ายภาษีเงินที่ได้จากการขายหน่วยลงทุน 3% รวมถึงเงินที่ได้ก็ต้องเอาไปรวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีสิ้นปีอีกด้วย

การลงทุนผ่าน LTF ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าไม่ต่างจาก RMF แถมยังขายได้ภายในระยะเวลาหลัง 7 ปีปฏิทิน ไม่ต้องรออายุ 55 ปี (เนื่องจากวัตถุประสงค์ต่างกัน) ถ้าเลือกกองทุนดี ๆ หน่อยผลตอบแทนก็สูงใช่ย่อยครับ

FundRadars (9)

ทีนี้แต่ละกองทุนก็จะมีมูลค่าขั้นต่ำในการสั่งซื้อ (ครั้งแรก/ครั้งถัดไป) รวมถึงค่าธรรมเนียมในการจัดการไม่เท่ากัน หากต้องมานั่งหยิบหนังสือชี้ชวนแต่ละบริษัทฯ ก็ดูจะเสียเวลาใช่ย่อย และตรงนี้เองเราสามารถดูได้ผ่าน FundRadars เพราะแต่ละกองทุนก็ยังมีค่าธรรมเนียมการขายกับการรับซื้อคืน ที่แตกต่างกันไป

FundRadars (10)

แค่ชื่อกองทุนและนโยบายการลงทุนอาจบอกได้ไม่หมด เราสามารถเลื่อนลงมาดูได้ว่ากองทุนไหนเอาเงินเราไปทำอะไรบ้าง หรือถือหุ้นบริษัทฯ ไหนอยู่ที่สัดส่วนเท่าไหร่ มาเป็นกราฟแบบโดนัทดูง่ายมาก

รีวิว FundRadars แอปพลิเคชัน (อีกครั้ง)

FundRadars App (1)

หน้าแรกจะเป็นหน้ารวม แบ่งกองทุนออกเป็นหลายหมวดหมู่ โดยมีตัวเลือกเป็นช่วงเวลาที่ต้องการให้เรียง (ย้อนหลังกี่เดือนกี่ปีก็ว่าไป) แต่หากไม่ทันใจก็ค้นหาชื่อกองทุนได้จากด้านขวาบน นอกจากนี้ก็มีบทความเกี่ยวกับกองทุนให้อ่าน เพื่อเสริมสร้างความรู้ในการลงทุน

FundRadars App (2)

สามารถเลือกกองทุนรายตัวเพื่อดูอย่างละเอียดได้ มีการบอกถึงค่าธรรมเนียมการจัดการ, นโยบายการจ่ายเงินปันผล, ปันผลล่าสุด (ถ้ามี) รวมถึงค่าความผันผวน (S.D.) และผลตอบแทน (Return)

FundRadars App (3)

รายละเอียดกองทุนดูค่อนข้างง่าย มีการบอกความเสี่ยง (Risk Level) แต่ถ้ายังไม่ละเอียดพอก็สามารถกดเพื่อโหลดหนังสือชี้ชวนในแบบสรุปได้ นอกจากนี้ยังดูสัดส่วนการลงทุนได้ว่ากองทุนเอาไปลงทุนที่ไหนบ้าง และในตอนนี้ถือทรัพย์สินหรือหุ้นบริษัทไหนอยู่ (เวลามีข่าวจะได้รู้ว่ากระทบกับกองทุนเรามากน้อยแค่ไหน)

FundRadars App (3.2)

แต่หากดูแค่ชื่อทรัพย์สินหรือหุ้นยังละเอียดไม่พอ เราสามารถแตะเพื่อไปดูข้อมูลของหุ้นรายตัวนั้นได้เลย เพื่อวิเคราะห์ราคาหุ้นที่กองทุนถืออยู่ ว่าจะกระทบกับมูลค่าของกองทุนมากน้อยแค่ไหน สมมุติว่ากองทุนถือ PTT เราสามารถแตะที่ชื่อ “PTT” เพื่อลิงค์ออกมายังแอปพลิเคชันที่ละเอียดมากกว่าอย่าง StockRadars โดยจะแบ่งสามหมวดใหญ่ด้วยกัน

  • Realtime : ดูข้อมูลปริมาณซื้อขาย รวมถึงราคาและแนวโน้มรอบสั้น-ยาว
  • Insight : บอกถึงพื้นหลังธุรกิจของบริษัทฯ จำนวนผู้ถือหุ้น, การซื้อ-ขายของผู้บริหาร, สถิติและราคาที่น่าสนใจ
  • Timeline : การพูดถึงหุ้นตัวนั้นในอินเตอร์เน็ต เช่น Twitter, Pantip ว่ามีข่าวหรืออะไรที่น่าสนใจบ้าง

หรือสรุปก็คือหากต้องดูข้อมูลเบื้องต้นสามารถดูได้ที่ FundRadars โดยเน้นความเรียบง่ายต่อการเข้าใจ แต่หากต้องการเจาะลึกข้อมูลรายตัว สามารถแตะเพื่อเข้าไปดูต่อได้ที่ StockRadars (คนละแอปพลิเคชัน แต่ทำงานต่อเนื่องกัน) เพื่อข้อมูลและกราฟที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น

FundRadars App (3.3)

ในส่วนของสายกราฟก็สามารถดูวิเคราะห์แนวโน้ม เพื่อหาแนวรับและแนวต้านสำหรับสาย Technical หรือหาจุดรับ-จุดขายที่เหมาะสม หลังจากดูงบการเงินประกอบไปเบื้องต้น

FundRadars App (4)

ความพิเศษของ FundRadars (อันนี้ชอบเป็นการส่วนตัว) คือสามารถแบ่งประเภทกองทุนเป็นหมวดหมู่ ตามวัตถุประสงค์ของผู้ลงทุนได้ตั้งแต่

  • กองทุนที่มีผลตอบแทนมากที่สุด
  • กองทุนที่มีอัตราการปันผล
  • กองทุนที่มีผลตอบแทนสม่ำเสมอ โดยมีความผันผวนของผลตอบแทนน้อย
  • กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
  • กองทุนทองคำ
  • กองทุนรวมผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนี (ETF)
  • กองทุนรวมดัชนี (Index Fund)
  • กองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า 1.3%
  • กองทุนเปิดใหม่
  • กองทุนที่มีมูลค่าซื้อขั้นต่ำครั้งแรกน้อยกว่าพันบาท

สุดท้ายนี้ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า “การลงทุน” เป็นการออมเงินอย่างหนึ่ง (ผลตอบแทนก็แลกด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามา) อย่างแย่หากเราเกิดพลาดขาดทุนขึ้นมา ยังไงก็มีเงินเหลือให้ใช้อยู่บ้าง ต่างจากการใช้ชีวิตไปวัน ๆ โดยไม่วางแผนเก็บเงินใด ๆ เลย … ซึ่งอย่างหลังเป็นอะไรที่น่ากลัวยิ่งกว่า

เครื่องมือพร้อมขนาดนี้ ที่เหลือก็อยู่ที่ตัวเราแล้วว่า จะมีวินัยในการลงทุน และควบคุมความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน

*การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน FundRadars และ StockRadars ได้ฟรีที่ App Store พร้อมติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก facebook.com/StockRadars

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย yugioh2500

หากตรงไหนแปลหรือเขียนผิดสามารถชี้แนะได้ครับ
ติดต่อ-สอบถาม-พูดคุย-แลกเปลี่ยนกันได้ที่
Twitter: @yugioh2500