Apple Device And Privacy
in ,

อุปกรณ์ Apple อย่าง iPhone กับการให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว (Privacy)

สิ่งเหล่านี้สำคัญกับคุณหรือไม่?

“เขียนข้อความบรรยายความรู้สึกถึงคนที่เรารักซึ่งอยู่ห่างกันหลายพันกิโลเมตร เพื่อหวังว่าผู้ที่เปิดอ่านจะรับรู้ว่าคุณรู้สึกคิดถึง คุณคิดถึงเขามากแค่ไหน”

“จดบันทึกความทรงจำดี ๆ ในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้ไปเยือน เขียนเป็นเรื่องราวลงในสมุดบันทึก เพื่อหวังว่าวันหนึ่งเราจะกลับมาอ่านเรื่องเหล่านั้นที่เราได้เขียนไว้ในอดีต”

“บันทึกวันเดือนปีเกิดพร้อมข้อมูลส่วนตัว อย่างเช่นเบอร์ติดต่อ ที่อยู่ อีเมล ที่สำคัญของสมาชิกในครอบครัว เพื่อเราจะได้ติดต่อหากันได้ไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใดของโลก”

ความเป็นส่วนตัว (Privacy)

Privacy ความเป็นส่วนตัว

สิ่งที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญและมีความหมายสำหรับคุณ คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้ามีใครสักคนที่คุณไม่รู้จักแอบเข้าไปดูข้อมูลเหล่านั้น เชื่อได้เลยทุกคนจะรู้สึกแบบเดียวกันว่า “คนเหล่านั้นมีสิทธิ์อะไรถึงทำแบบนี้กับเรื่องส่วนตัวของเรา?”

“เพราะเรื่องส่วนตัวหรือธุระของคุณ มันก็ควรจะเป็นเรื่องของคุณ ไม่ใช่เป็นเรื่องของใคร ๆ ก็ได้ที่จะมาละเมิดในสิทธิ์ของเรา”

เอาหละ ณ จุดนี้เราคงเข้าใจกันแล้วแหละว่าทุกคนต่างต้องการความเป็นส่วนตัวไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม นี่เพียงยกตัวอย่างข้างต้นมาเพียง 3 ข้อเท่านั้น เราก็รู้แล้วว่าเรื่องส่วนตัวของเรานั้นสำคัญแค่ไหน 

ทุกวันนี้โลกอินเทอร์เน็ตอยู่กับเราเกือบจะตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งเว็บไซต์, อีเมล, สมาร์ตโฟน, แอปพลิเคชัน, โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่เราได้ใช้งานนั้น เรามั่นใจแค่ไหนว่าสิ่งที่เรากำลังใช้งานอยู่นั้นมีความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวแค่ไหน?

สิ่งที่อยากให้ผู้อ่านตระหนักรู้หลังจากได้อ่านบทความนี้คือ เราจะป้องกันและรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร พร้อมไปชมข้อมูลว่า  Apple จัดการเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อย่างไรบ้าง

อุปกรณ์ Apple อย่าง iPhone กับการให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว (Privacy)

Iphone Xs Passcode And Faceid

Apple ให้ความสำคัญในเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มาเป็นอันดับแรกและทุก ๆ อุปกรณ์ของ Apple นั้นได้ถูกออกแบบป้องกันความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานโดยเฉพาะ ซึ่งทั้งนี้ Apple เชื่อว่า ความเป็นส่วนตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์และข้อมูลส่วนตัวหลายๆ อย่างซึ่งเป็นสิ่งที่เรามีสิทธิ์เก็บเอาไว้เป็นส่วนตัว ดังนั้นจึงออกแบบให้ข้อมูลเหล่านั้นเก็บอยู่บนอุปกรณ์ของ Apple ที่ติดตัวเราเท่านั้นไม่ต้องแชร์ไปเก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์กลางของใคร

บทความนี้จะขออนุญาตแชร์ข้อมูลที่น่าสนใจของระบบ iOS ที่เราใช้งานกันอยู่ว่าตัวอุปกรณ์อย่าง iPhone, iPad และระบบ iOS นั้นออกแบบให้จัดการกับเรื่องความเป็นส่วนตัวอย่างไรบ้าง

Apple ออกแบบแพลตฟอร์ม iOS โดยคํานึงถึงความปลอดภัยเป็นหัวใจหลัก เป้าหมายเพื่อการสร้างแพลตฟอร์มอุปกรณ์เคลื่อนที่ท่ียอดเยี่ยมที่สุด จากประสบการณ์กว่า 10 ปี สู่การพัฒนาสถาปัตยกรรมแบบใหม่ท้ังหมด คํานึงถึงภัยคุกคามความปลอดภัยของการใช้งานแบบเดสก์ท็อปและได้พัฒนาแนวคิดใหม่เรื่องความปลอดภัยในการออกแบบ iOS พัฒนาและนําคุณสมบัติที่เป็นนวัตกรรมมาใช้ซึ่งช่วยให้ความปลอดภัยของอุปกรณ์เคลื่อนที่รัดกุมขึ้นและช่วยป้องกันระบบทั้งระบบตามค่าเริ่มต้น ผลที่ได้คือ iOS ซึ่งเป็น ความสําเร็จแบบก้าวกระโดดในด้านความปลอดภัยสําาหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่

ดังนั้น อุปกรณ์ iOS ทุกเครื่องจึงประกอบด้วยซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และบริการที่ถูกออกแบบมาให้ ทํางานร่วมกันเพื่อความปลอดภัยสูงสุดและประสบการณ์การใช้งาน ซึ่งชัดเจนว่า iOS ไม่เพียง ป้องกันอุปกรณ์และข้อมูลในเครื่องแต่ยังป้องกันระบบท้ังหมด ซึ่งรวมถึงทุกอย่างที่ผู้ใช้ใช้งานบนเครื่อง บนเครือข่าย และบนบริการอินเทอร์เน็ตหลักอีกด้ยวย

หากจะนำเรื่อง “ความปลอดภัยในระบบ iOS” มาพูดให้ฟังทั้งหมดก็คงจะไม่จบกันง่ายแน่ ๆ ในบทความนี้ เพราะเนื้อหานั้นมีเยอะเหลือเกิน แต่สิ่งที่อยากสรุปให้เข้าใจกันใน 5 หัวข้อหลักด้านการจัดการความเป็นส่วนตัวของ Apple ในระบบ iOS (และระบบอื่นๆ) ประกอบไปด้วย

  1. การเก็บข้อมูลผู้ใช้เท่าที่จำเป็น
  2. ความลับของผู้ใช้ถูกเก็บไว้ที่อุปกรณ์ ไม่ได้เก็บที่ Apple
  3. ความโปร่งใสต่อผู้ใช้งานและการควบคุม
  4. การปิดบังตัวตน
  5. การป้องกันข้อมูล

โดยรายละเอียดสรุปในแต่ละหัวข้อเป็นดังนี้ครับ

1. การเก็บข้อมูลผู้ใช้เท่าที่จำเป็น

Ios Health Data

ก่อนหน้าที่เคยรายงานไปว่า เช็คกันหน่อย ผู้ให้บริการค่ายใหญ่เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวอะไรของผู้ใช้บ้าง ซึ่งช่วงท้ายได้สรุปเอาไว้ว่า Apple จะเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้เท่าที่จำเป็น และข้อมูลสำคัญๆ จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ใช้ก่อนเท่านั้น ตามนโยบายของ Apple ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า Apple นั้นแม้จะขอข้อมูลของเราไปก็มีเฉพาะส่วนที่จำเป็นเพื่อใช้สำหรับยืนยันตัวตนเท่านั้น

2. ความลับของผู้ใช้ถูกเก็บไว้ที่อุปกรณ์ ไม่ได้เก็บที่ Apple

Apple A12 Bionic Chip

เราอาจจะสงสัยว่ารูปและวีดีโอที่เราถ่ายบน iPhone ตั้งหลายพันหลายหมื่นรูป Apple รู้หมดว่าเราถ่ายที่ไหนยังไงเมื่อไหร่ แบบนี้เรายังเชื่อได้ไหมว่า Apple ไม่ได้เก็บข้อมูลเราไป?

จุดนี้ก็ผมเคยสงสัยเหมือนกันนะ และขออธิบายให้เห็นภาพดังนี้ครับ Apple ผลิตชิปของตัวอย่างขึ้นมาที่เรารู้กันดีก็อย่างเช่น A12-Bionic ใน iPhone XS, XS Max และ XR รุ่นล่าสุดที่มาพร้อม Neural Engine ภายใน นั่นคือส่วนสำคัญ เพราะรูปและวิดีโอเหล่านั้นที่อยู่บน iPhone ได้ออกแบบมาให้ประมวลผลข้อมูลจากรูปภาพและวิดีโอทั้งหลายของคุณที่เก็บอยู่บนเครื่อง iPhone นั้น ๆ ให้สามารถตอบสนองการใช้งานที่ง่ายของผู้ใช้ได้ เช่น การค้นหารูปภาพจากวันที่ถ่าย, สถานที่ถ่าย ฯลฯ ให้เราค้นพบภาพเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น ซึ่งการประมวลผลทั้งหมด “เกิดขึ้นบน iPhone ของเรา ข้อมูลเหล่านั้นไม่ถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ Apple แต่อย่างใด”

นี่คือตัวอย่างที่ Apple ยกมาให้เห็นว่า กิจกรรมต่าง ๆ ของเรา เช่นการถ่ายรูป, อัตราการเต้นของหัวใจ, ข้อมูลการออกกำลังกาย, การบันทึกลายนิ้วมือหรือการใบทึกใบหน้าเพื่อใช้สำหรับ Face ID ฯลฯ เหล่านั้นจะถูกจัดเก็บบนตัวเครื่องเป็นหลักครับ ยกตัวอย่างถ้าเราลืม Passcode ทาง Apple ก็ไม่สามารถที่จะปลดล็อคให้เราได้ แม้ว่า Apple อาจจะมีวิธีการที่ทำได้แต่ก็คงไม่ทำ ซึ่งกรณีแบบนี้เราเคยเห็นมาแล้วช่วงที่ FBI ขอให้ Apple ปลดล็อคเครื่อง iPhone ให้แต่ก็ถูกปฏิเสธนั่นเอง

3. ความโปร่งใสต่อผู้ใช้งานและการควบคุม

ถ้าเราสังเกตดี ๆ ครั้งแรกที่เปิดใช้งานแอป อย่างเช่น กล้องถ่ายรูป, แผนที่ ฯลฯ ทุกแอปจะมีการแจ้งเตือนขึ้นมาเสมอว่าเราจะอนุญาตให้แอปต่างๆ เข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นใหม่ สิ่งนี้หมายถึงการสร้างความโปร่งใสไร้วาระซ่อนเร้น ทำให้ผู้ใช้งานสบายใจว่าแอปที่กำลังจะใช้นั้นเข้าถึงข้อมูลอะไรที่สำคัญ ๆ บ้าง และหากเราไม่อยากให้เข้าถึงสิ่งนั้นก็เลือกที่จะไม่อนุญาตก็ทำได้ เพราะนั่นคือสิทธิของเรา

Apple Privacy App Transparent

นอกจากสิ่งที่เราเห็นจากหน้าต่างข้อความที่เด้งขึ้นมาถามเราแล้ว สิ่งที่ Apple ทำมากกว่านั้นอีกคือกำหนดให้นักพัฒนาแอปต้องขออนุญาตเสมอว่าจะขอเข้าถึงเพื่ออะไร พร้อมแสดงคำอธิบายให้ชัดเจนด้วย สิ่งนี้ก็จะช่วยให้ป้องกันแอปที่ไม่หวังดีทำการเข้าถึงข้อมูลของเราได้โดยง่ายนั่นเองครับ หรือหากแอปไหนที่มีวาระซ่อนเร้นอยู่ก็จะถูก Apple จัดการโดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นการไม่อนุญาตให้ขายที่ App Store หรือหากมีขายอยู่แล้วก็จะถูกแบนนออกได้เช่นกัน

4. การปิดบังตัวตนของผู้ใช้งาน (Hide Identities)

Apple Iconsiam On Apple Maps Macos

นอกจากการเก็บเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นเท่านั้นไปใช้งานแล้ว ทาง Apple ยังพัฒนาฟีเจอร์การปิดบังส่งที่จะสามารถระบุตัวตนของผู้ใช้งานเพื่อไม่ให้ถูกติดตามหากมีผู้ไม่หวังดีมาแอบส่อง ยกตัวอย่างเช่น การใช้งาน Apple Maps ในการค้นหาตำแหน่งของบ้านหรือคอนโดที่พักอาศัยของเรา ทุกครั้งที่มีการค้นหาจะต้องมีการระบุ ID ของผู้คน ซึ่งตัว ID นี้แหละที่จะเปลี่ยน หมายความว่า การค้นหาที่อยู่บ้านเดิมจำนวน 10 ครั้ง แต่ ID ของผู้ค้นหา (ตัวเรา) จะไม่ซ้ำกันเลย เนื่องจากไม่ต้องการให้ผู้ไม่หวังดีระบุตัวตนของผู้ค้นหาได้นั่นเอง นี่เป็นเพียงหนึ่งแนวทางจากหลาย ๆ อย่างที่ Apple พยายามพัฒนาขึ้นมา เพื่อป้องกันข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อย่างเรา ๆ

5. การป้องกันข้อมูล

Iphone X Series Face Id Setup

ในการป้องกันข้อมูลของผู้ใช้งานนั้นมีหลายวิธีที่ Apple ได้พัฒนาขึ้นมาใช้งานทั้งตัวฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เอง เช่น ระบบ Face ID, Touch ID, Passcode สำหรับการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปใช้งานอุปกรณ์ของเรา ระบบ Activation Lock สำหรับล็อคอุปกรณ์ iOS, watchOS, macOS เข้ากับ Apple ID ของเราและต้องปลดด้วย Apple ID พร้อมรหัสผ่านจากเราเท่านั้น หรือไม่ว่าจะเป็นการเข้ารหัสในการสำรองข้อมูล, การเข้ารหัสสำหรับทุกข้อความที่ส่งผ่าน iMessage เพื่อให้มั่นใจว่าข้อความที่ส่งหากันนั้นจะไม่ถูกใครดักจับไปเปิดอ่านได้ ฯลฯ

ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมาให้ชมนั้นเป็นภาพรวมหลัก ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า Apple ให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวมากขนาดไหน ซึ่งเริ่มตั้งแต่การออกแบบระบบฮาร์ดในระดับชิปและการออกแบบระบบซอฟต์แวร์ต่าง อย่าง iOS, watchOS, macOS เพื่อป้องกันข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ในส่วนของฝั่ง iCloud เองหากผู้ใช้ต้องการสำรองข้อมูลเหล่านั้นขึ้นไปเก็บ นั่นก็เป็นสิทธิ์ที่ผู้ใช้เลือกว่าจะใช้งานหรือไม่ก็ได้ แต่หากใช้งานแล้วละก็ทาง Apple ก็เพิ่มความปลอดภัยของ Apple ID ที่จะเป็นกุญแจหลักในการเข้าสู่ iCloud เช่นการเพิ่มการตรวจสอบ 2 ปัจจัยเป็นต้น ทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่าระบบนั้นปลอดภัยต่อการใช้งาน

คำแนะนำการตั้งค่าจัดระเบียบเพื่อความเป็นส่วนตัวในการใช้งานสมาร์ตโฟน

Iphone Privacy Settings

โดยปกติแล้วระบบปฏิบัติการ iOS  ได้ถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้เลือกกำหนดความเป็นส่วนตัวเอาไว้ค่อนข้างดีและแอปพลิเคชันต่าง ๆ ในสมาร์ตโฟนนั้นหากต้องการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ ๆ อย่างเช่น รายชื่อผู้ติดต่อ, รหัสผ่านที่บันทึก, ข้อความในโน้ต, สถานที่ตั้ง ฯลฯ แอปเหล่านั้นจะถูกบังคับให้สอบถามความสมัครใจกับผู้ใช้งานก่อนว่ายินยอมให้เข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นหรือไม่

หลักการง่าย ๆ จะบอกให้ทราบดังนี้ครับ

“เลือกอนุญาตให้แอปต่าง ๆ เข้าถึงเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้งานเท่านั้น”

ตัวอย่าง เช่น 

  • การเข้าถึงตำแหน่งที่ตั้งก็ควรจะมีเฉพาะแอปอย่างแผนที่, กล้องถ่ายรูปหรือแอปรายงานสภาพอากาศ ฯลฯ เท่านั้นที่เข้าถึง หากมีแอปอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องมาร้องขอเพื่อใช้งานตำแหน่งที่ตั้งของคุณนั้นมันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง
  • รายชื่อ ควรจะเป็นเฉพาะแอปโทรศัพท์หรือแอปที่ใช้สำหรับการติดต่ออย่างเช่น  LINE, Skype, WhatsApp ฯลฯ ถ้าเป็นแอปพวกถ่ายรูปหรือเกมจะขอเข้าถึงรายชื่อนั้นมันก็ดูจะไม่เหมาะสมเท่าไหร่

ดังนั้น จุดที่เราจะต้องเข้าไปตรวจสอบอยู่เสมอสำหรับผู้ใช้  iOS  คือ เมนูความเป็นส่วนตัว (Privacy) ซึ่งจะอยู่ในการตั้งค่า หลังจากเข้าไปที่เมนูดังกล่าวแล้วให้ไปตรวจสอบในแต่ละหัวข้อความเราจะอนุญาตให้แอปไหนเข้าถึงในแต่ละส่วนบ้าง หากพบว่าแอปมีแอปแปลก ๆ ขอเข้าถึงข้อมูลที่ไม่จำเป็น ก็ให้ปิดการอนุญาตเหล่านั้นไป

แนะนำเพิ่มเติมสำหรับการติดตั้งแอปพลิเคชันควรเลือกติดตั้งแอปพลิเคชันที่มาจากผู้พัฒนาที่เป็นที่รู้จักกันดี อย่างเช่น พัฒนาโดยบริษัทที่น่าเชื่อถือ, หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอปพลิเคชันเลียนแบบ, เลี่ยงจากการติดตั้งแอปที่โอ้อวดความสามารถเกินจริง, เลี่ยงการติดตั้งแอปที่ไม่ได้มีใน ​App Store (เช่น การทำ Sideload เป็นต้น) และติดตั้งแอปที่จำเป็นสำหรับการใช้งานเท่านั้น เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถควบคุมความเป็นส่วนตัวของเราและลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยของ iOS สามารถตรวจสอบได้ที่นี่

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย Attapon Thaphaengphan

ศิษย์เก่าวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม. ขอนแก่น ผู้ก่อตั้ง iPhoneMod.net ตั้งแต่ปี 2009
อดีต Dell Technical Support รู้จัก ​Apple เพราะ Macbook Pro และใช้ iPhone ตั้งแต่รุ่น 3G จนถึงปัจจุบัน