Internet Banking Cover
in ,

แนะนำตั้งค่าความปลอดภัยอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (Internet Banking) ให้ตัวคุณเอง

อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (Internet Banking) เป็นสิ่งที่ถือว่ามีความจำเป็นในยุคสมัยนี้มาก ทำให้เราไม่ต้องเดินทางไปที่ธนาคารเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินให้เสียเวลาอีกทั้งการเช็คยอดเงิน, การโอน, การจ่ายค่าบริการต่างๆ นั้นทำได้ง่ายๆ แค่เมาส์คลิกหรือผ่านแอปบนมือถือ วันนี้อาจจะมาแชร์ประสบการณ์นิดนึงครับเป็นเรื่อง “โดนธนาคารแจ้งเตือนว่าล็อคอินเข้าใช้อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ทั้งที่ไม่ได้เข้าใช้งาน รอบนี้โดนไป 2 ธนาคารเลยทีเดียว”

ที่มาที่ไปของปัญหา

ขอแจ้งก่อนนะครับว่า “บทความนี้ผมไม่ได้กล่าวโทษธนาคารแต่อย่างใดเพียงแค่แชร์ประสบการณ์และบอกเล่าเรื่องราวให้ทราบจะได้หาทางระวังป้องกันตัวเองไว้ครับ”

ปัญหาที่เจอคือผมได้อีเมลแจ้งเตือนจากธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงเทพแต้งเตือนว่ามีการล็อคอินเข้าใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งผ่านหน้าเว็บทั้งๆ ที่ผมไม่ได้เข้าระบบเพื่อทำธุรกรรมใดๆ เลย

แนบหลักฐานมาให้ชมทั้ง 2 แบงค์ครับ

อีเมลแรกได้รับเมื่อ 8/8/2561 เวลาประมาณ 15.11 น. ซึ่งวันนั้นผมยังนั่งฟังงานบรรยาย Blognone Tomorrow อยู่เลยไม่ได้เปิดคอมฯ เครื่องใดๆ แต่พอเจอแบบนี้สิ่งแรกที่ทำคือ เช็คยอดเงินก่อนเมื่อพบว่ายอดยังเท่าเดิมก็ยังอุ่นใจแต่ว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ จากนั้นก็เริ่มป้องกันปัญหาทันทีที่ง่ายสุดคือเปลี่ยนรหัสผ่านครับ

K Cyber Logon Notification

เคสต่อมาได้อีเมลจากธนาคารกรุงเทพส่งมาตอนประมาณ 04:11 น. ช่วงนั้นยังหลับฝันหวานอยู่เลย พอตื่นมาช่วง 7 โมงกว่าๆ เข้าเช็คอีเมลก็เลยเจอ ก็ตกใจนะแต่ยังไม่กังวลมาก เพราะว่าเงินในบัญชีนี้ไม่มี 😀 (แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สำคัญ) ผมทำแบบเดียวกันคือ เช็คยอดเงินก่อนพบว่ายังคงเหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยน ที่เหลือก็ไปตั้งค่าความปลอดภัยครับ

Ibanking Bbl Logon Notification

อันนี้เป็นเคสที่เจอนะนำมาบอกต่อให้ฟังก่อน แต่อย่างเพิ่งตกใจไป ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้เราต้องมีสติครับ

แนะนำตั้งค่าความปลอดภัยอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (Internet Banking) ให้ตัวคุณเอง

จากปัญหาที่เจอสิ่งที่ผมทำและอยากแนะนำให้ทุกคนทำตามหรือจตรวจสอบไปพร้อมกันคือ

  • เปลี่ยนรหัสผ่านทันทีให้มีความซับซ้อนมากขึ้นไม่ให้สามารถคาดเดาได้ง่ายและควรจะเปลี่ยนเรื่อยๆ อาจจะเดือนละครั้งหรือ 3 เดือนครั้งตามความเหมาะสม เคสนี้ที่ผมเปลี่ยนก็เพราะเจอความผิดปกติเลยต้องเรียบทำครับ
  • ตั้งค่าการแจ้งเตือน ทุกๆ อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งจะมีฟีเจอร์แจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานทราบไม่ว่าจะผ่านทาง SMS, อีเมลหรือ LINE Official Account อย่างที่ SCB Connect ก็บอกหากมีการเข้าระบบ, การโอนเงิน, การรับเงินเราก็จะได้ทราบ หากใครยังไม่ตั้งค่าให้ระบบส่งแจ้งเตือนมาให้ทราบแนะนำว่าให้เปิดไว้นะครับ (แต่ก่อนก็คิดรำคาญแต่หลังๆ คิดว่า มันคือสิ่งที่จำเป็นนั่นแหละเขาเลยทำมาให้)

Ibanking Setting Notification

  • หาสาเหตุของปัญหาและปรึกษาธนาคารผู้ให้บริการ ทุกปัญหาย่อมมีสาเหตุครับ ดังนั้นเราต้องตั้งสติให้ดีอย่าเพิ่งโวยวายหรือแตกตื่นไป เพราะบางครั้งความผิดพลาดนั้นอาจจะเกิดที่ฝั่งเรา เช่น จด Username รหัสผ่านไว้แล้วมีคนเห็น, รหัสผ่านอาจจะคาดเดาได้ง่ายเกินไป หรืออาจจะเกิดจากการได้รับ Phishing email ที่ส่งมาหลอกเอาข้อมูลแล้วเราได้กรอกข้อมูลไปทำให้ผู้ไม่หวังดีได้รหัสผ่านเหล่านั้นไปก็อาจจะเป็นไปได้ ส่วนเคสของผมคิดว่า “น่าจะเกิดจากการลิงก์อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งกับแอปพลิเคชันจัดการรายรับรายจ่ายที่จะมีฟีเจอร์ซิงก์ข้อมูลเงินของธนาคารมาแสดงได้ ทั้งนี้แอปจะทำการเช็คยอด (Balance) แบบอัตโนมัติ นั่นจึงอาจจะเป็นที่มาของการที่ธนาคารส่งอีเมลมาแจ้งเตือนครับ”
  • หมั่นตรวจสอบข้อมูลการแจ้งเตือนเสมอๆ ทั้งจาก SMS, อีเมล ที่ทางธนาคารส่งมา หลายครั้งหรือหลายคนได้รับอีเมลแล้วไม่ค่อยที่จะอ่านหรือจะสนใจ ทั้งนี้แนะนำว่าให้อ่านนะครับเพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง
  • จดบันทึกกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น จดว่าวันที่เท่านี้เราใช้งานแอปนี้ร่วมกับอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งนะ หรือ วันนี้เราจ่ายเงินค่าตั๋วด้วยอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งนะผ่านเว็บนี้ ฯลฯ เพื่อเก็บข้อมูลว่าเราใช้งานอะไรไปบ้างและเหตุการณ์ที่เกิดความผิดปกตินั้นเกิดขึ้นก่อนหรือหลังจากที่เราทำกิจกรรมเหล่านั้นครับ ก็จะเป็นอีกข้อมูลหนึ่งที่ช่วยตอบคำถามของปัญหาได้
  • ไม่ควรเข้าระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งจากคอมพิวเตอร์สาธารณะ เนื่องจากจะมีการบันทึกข้อมูล Username รหัสผ่าน เอาไว้ (ระบบจะถามก่อนว่าจะบันทึกไหม บางคนไม่อ่านก็กดบันทึกไป ข้อมูลก็จะค้างอยู่ที่นั่น) แต่หากจำเป็นว่าต้องใช้จริงๆ ควรใช้งานผ่าน Private โหลดของ Web Broswer นั้นๆ ครับ
  • ไม่ควรกรอก Username รหัสผ่านจากลิงก์หรือหน้าเว็บที่ไม่ใช้ของธนาคาร ป้องกันการขโมยข้อมูลจากผู้ที่ไม่หวังดี
  • ติดตั้ง Antivirus Software ป้องกันให้กับตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น ป้องกันเว็บ Phishing ต่างๆ

สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นความจำเป็นที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและโมบายแบงค์กิ้งควรจะให้ความสนใจและทำความเข้าใจเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับตัวเรานะครับ

“เงินทองนั้นหายาก ต้องรักษาไว้ให้ดี แต่ถ้าซื้อของที่มันต้องมี ก็แล้วแต่ท่านเลย :D”

ด้วยความปราถนาดีจาก iMoD

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย Attapon Thaphaengphan

ศิษย์เก่าวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม. ขอนแก่น ผู้ก่อตั้ง iPhoneMod.net ตั้งแต่ปี 2009
อดีต Dell Technical Support รู้จัก ​Apple เพราะ Macbook Pro และใช้ iPhone ตั้งแต่รุ่น 3G จนถึงปัจจุบัน