in

รู้ก่อนซื้อ! 12 สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับ AirTag อุปกรณ์ติดตามสิ่งของ

Apple ได้เปิดตัวอุปกรณ์เสริมใหม่ชื่อว่า AirTag ในงาน Apple Event “Spring Loaded” เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2021 ที่ผ่านมา เรามาชมกันว่าสิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับ AirTag นั้นมีอะไรบ้าง เผื่อเป็นข้อมูลพิจารณาก่อนที่ Apple จะเปิดขายในไทย

AirTag เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับติดตามสิ่งของ มีขนาดเล็กใกล้เคียงกับเหรียญ 10 บาท สามารถนำไปใส่ไว้ในสิ่งของอย่างกระเป๋าได้ หรือจะห้อยกับพวงกุญแจและนำไปติดกับสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ในการติดตามผ่านแอป Find My ซึ่ง AirTag นั้นยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่หลายคนยังไม่ทราบ เรามาชมสิ่งที่ต้องทราบกัน

รู้ก่อนซื้อ! 12 สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับ AirTag อุปกรณ์ติดตามสิ่งของ

1. ใช้ถ่านกระดุมที่เปลี่ยนได้

AirTag ไม่สามารถชาร์จได้ แต่มาพร้อมกับแบตเตอรี่เซลล์หรือถ่านกระดุมขนาดเล็กมาตรฐาน CR2032 โดย Apple ระบุว่าอายุการใช้งานแบตเตอรี่นั้นจะสามารถใช้งานแบบปกติได้นานกว่า 1 ปี

ซึ่งการใช้ปกตินั้นหมายถึงการค้นหา AirTag โดยสั่งให้เล่นเสียง 4 ครั้งต่อวัน และใช้ฟีเจอร์ตำแหน่งที่ตั้งจริงวันละ 1 ครั้ง ซึ่งอายุแบตเตอรี่ก็ขึ้นอยู่กับระยะทางและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน

แน่นอนว่า AirTag เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ติดตามสิ่งของ การชาร์จแบตอาจจะไม่เหมาะสมเท่ากับเปลี่ยนถ่านใช้งาน ซึ่งถ่านกระดุมแบบ CR2032 ราคาก็ไม่ได้แพงมากนัก ในประเทศไทยราคาอยู่ที่ประมาณ 100 บาท และไม่ต้องกังวลว่าถ่านจะหมดไปดื้อ ๆ เพราะ iPhone จะแจ้งเตือนให้เราทราบเมื่อแบตใกล้หมด เราก็สามารถเปลี่ยนล่วงหน้าและใช้งานต่อได้เลย

2. ทนน้ำได้ แต่ไม่กันน้ำ

AirTag มาพร้อมคุณสมบัติการทนน้ำ IP67 ที่สามารถทนต่อน้ำกระเซ็นใส่ ทนฝ่นได้ ในความลึกไม่เกิน 1 เมตร เป็นระยะเวลานาน 30 นาที ไม่สามารถกันน้ำนอกเหนือจากมาตรฐานที่กำหนดได้

แน่นอนว่า AirTag ไม่สามารถกันน้ำได้ อย่างเวลาที่ AirTag ตกลงไปในน้ำลึกทะเลสาบลึก ๆ ก็อาจจะไม่สามารถทำงานได้

3. AirTag จะส่งเสียง เมื่อไม่ได้อยู่ใกล้เจ้าของ 3 วัน

AirTag มาพร้อมฟีเจอร์ความเป็นส่วนตัวที่ป้องกันการติดตามได้ เช่น เวลาที่มีคนแอบเอา AirTag มาหยอดในกระเป๋าโดยไม่รู้ตัว  และเจ้าของกระเป๋าไม่ได้ใช้งาน iPhone ผ่านไป 3 วัน AirTag จะส่งเสียงให้ทราบทันที แต่ถ้าผู้ถูกติดตามใช้ iPhone ก็จะได้รับการแจ้งเตือนที่เร็วกว่านี้ เมื่อพบ AirTag ของคนอื่นมาอยู่ใกล้ ๆ

ระยะเวลาการแจ้งเตือน 3 วันนี้ถูกทดสอบโดย John Gruber คาดว่าที่แจ้งเตือนล่าช้าถึง 3 วันนี้ Apple อาจจะออกแบบมาเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างประโยชน์และความปลอดภัย ซึ่งระยะเวลานี้เป็นการตั้งค่าทางฝั่งเซิร์ฟเวอร์ของ Apple อาจมีการเปลี่ยนแปลงภายหลัง

4. AirTag ใช้ค้นหา iPhone ไม่ได้

เราสามารถใช้ iPhone ค้นหา AirTag ได้ทางเดียวเท่านั้น แต่เราไม่สามารถใช้ AirTag ค้นหา iPhone ด้วยตัวของมันเองได้

5. ทุกคนสามารถค้นพบ AirTag

เราสามารถสแกน AirTag ด้วยสมาร์ตโฟนผ่านเทคโนโลยี NFC เพื่อดูข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของเพิ่มเติม โดยการสแกนนี้นำไปยังเว็บไซต์ found.apple.com

สิ่งที่ผู้สแกนเห็นนั้นจะขึ้นอยู่กับการตั้งค่าของเจ้าของ AirTags อาจจะมีหมายเลขซีเรียล หรืออาจจะเห็นข้อมูลเพิ่มเติมของเจ้าของ เมื่อเจ้าของระบุว่าอยู่ในโหมดสูญหาย (Lost Mode) เช่น อาจเห็นเบอร์โทร หรืออีเมล สำหรับติดต่อส่งคืน ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เจ้าของป้อน

และสิ่งที่ควรทราบคือ AirTag ไม่มี Wi-Fi หรือเซลลูลาร์ในตัว แต่จะส่งสัญญาณบลูทูธให้กับอุปกรณ์ Apple ที่อยู่ใกล้ ๆ และจะส่งตำแหน่งที่ตั้งของ AirTag ไปยัง iCloud เพื่อให้เจ้าของเห็นตำแหน่งที่ตั้ง โดยข้อมูลถูกเข้ารหัสอย่างปลอดภัย

แต่ถ้าใช้สมาร์ตโฟน Android พบ AirTag ก็อาจจะไม่ได้รับการแจ้งเตือนว่ามี AirTag ในโหมดสูญหาย

6. เมื่อ AirTag ติดตาม เราจะทราบ

iPhone สามารถแจ้งเตือนเราได้เมื่อพบว่ามี AirTag เคลื่อนที่ไปมา โดย AirTag นั้นไม่มีเจ้าของอยู่ใกล้ ถึงแม้ว่า AirTag จะไม่ส่งเสียงเองนานถึง 3 วัน แต่ถ้าเรามี iPhone เครื่องก็จะแจ้งเตือนอย่างรวดเร็ว และระบุว่ามีการติดตามที่น่าสงสัย

ถ้าเราได้รับการแจ้งเตือนแล้ว แต่ค้นหา AirTag ไม่พบ เราสามารถสั่งให้ AirTag เล่นเสียงผ่านแอป Find My ได้ หรือจะใช้ AirTag ของเราเองช่วยตามที่ตั้งได้ และแตะ เรียนรู้เกี่ยวกับ AirTag เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมของ AirTag ที่น่าสงสัย

7. ปิด Safety Alert สำหรับ AirTags ที่รู้จักได้

ถ้าหากเรามี AirTag ของคนอื่นที่เรามาด้วยและทราบอยู่แล้วว่าเป็น AirTag ที่ไม่เป็นอันตราย ก็สามารถปิดใช้งานการแจ้งเตือนความปลอดภัย (Safety Alert) ได้ในแอป Find My ซึ่งเป็นการปิดการแจ้งเตือนระยะเวลาหนึ่งเท่านนั้น

แต่ในกรณีที่ AirTag ใช้งานร่วมกันในครอบครัวแบบ Family Sharing จะมีตัวเลือกให้ปิดการแจ้งเตือนความปลอดภัยแบบไม่มีกำหนดระยะเวลาได้ เพื่อให้คนในครอบครัวสามารถใช้ AirTag ของกันและกันได้เป็นประจำ

8. ปิดใช้งาน AirTag ที่ไม่ใช่ของเราได้

ถ้าหากเราได้รับการแจ้งเตือนว่า AirTag กำลังติดตามเราอยู่ โดยไม่รู้ว่าเป็น AirTag ของใคร Apple ยังมีตัวเลือกในการปิดใช้งาน AirTag ได้ด้วยผ่านแอป Find My

เมื่อเราปิดใช้งานแล้ว AirTag ก็จะหยุดแชร์ตำแหน่งที่ตั้งทันที เพื่อป้องกันการติดตามที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งถ้าพบเคสนี้ Apple ยังแนะนำให้ผู้ใช้แจ้งความและระบุหมายเลขประจำเครื่อง เผื่อว่าจะมีการตรวจสอบย้อนกลับไปยังเจ้าของ AirTag และดำเนินคดีตามกฎหมาย

9. AirTag ไม่ใช่อุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรม

Apple ไม่ได้โปรโมทให้ AirTag เป็นอุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรม ซึ่งบางคนกังวลว่าโจรจะปิดใช้งาน AirTag ที่กำลังติดตามสิ่งของได้ง่ายเกินไป

ซึ่งแน่นอนว่าขโมยมืออาชีพสามารถถอด AirTag ออกจากสิ่งของแล้วโยนทิ้ง หรือใช้วิธีถอดแบตเตอรี่ออก หรือทำลาย AirTag  ทิ้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งของแพงที่ถูก AirTag ติดไว้ โดยหลีกหนีจากการติดตาม

จึงอยากให้ผู้ใช้ทราบไว้ว่า AirTag ไม่สามารถป้องกันการขโมยได้ แต่ Apple ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของคนมากกว่า เนื่องจากคนมีค่ากว่าสิ่งของ

10. มีการเข้ารหัสเสมอ เพื่อป้องกันการติดตาม

Apple ได้สร้างเครือข่าย Find My พร้อมคุณสมบัติความเป็นส่วนตัวที่ยอดเยี่ยม แต่การส่งสัญญาณบลูทูธไปยังอุปกรณ์ใกล้เคียงก็มีการส่ง ID ไปด้วย ซึ่งอาจะทำให้คนที่รู้จักหรือคอยติดตามเรารู้ ID ได้

Apple จึงได้ทำการเข้ารหัส ID แบบสุ่ม เพื่อไม่ให้คนอื่นสามารถค้นหา AirTags ของเราได้เพื่อปกต้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

11. ทำงานร่วมกับ VoiceOver

Apple ได้ใส่ฟีเจอร์การช่วยการเข้าถึงให้กับ AirTag ด้วย โดยรองรับการทำงานร่วมกับ VoiceOver สำหรับฟีเจอร์การค้นหาตำแหน่งที่ตั้งจริง น่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้พิการทางสายตาที่ระบบช่วยบอกทางสำหรับการค้นหาได้

12. สลักอิโมจิที่ไม่เหมาะสมไม่ได้

เห็นได้ว่าเมื่อเราสั่งซื้อ AirTag เราสามารถเลือกสักชื่อหรืออิโมจิได้ แต่ก็มีข้อจำกัดที่ผู้ใช้ต้องใส่ข้อความหรืออิโมจิที่สุภาพและเหมาะสม  เมื่อใส่คำไม่สุภาพหรืออิโมจิที่ไม่สุภาพ ก็จะมีข้อความแนะนำให้ใส่ชื่อหรือเลขนำโชค ซึ่งเป็นการแสดงด้านบวกมากกว่า

และทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับ AirTag อาจจะเป็นข้อมูลให้กับคนที่กำลังเตรียมซื้อ AirTag ได้ ส่วนการวางจำหน่ายในประเทศไทยนั้น รอติดตามกันอีกครั้งนะคะ

ขอบคุณ​ idropnews

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย Zakura Kim

Bachelor degree of science, Software engineering major, Payap University