in ,

10 ปัญหาทั่วไปที่พบใน macOS Big Sur พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น

สำหรับใครที่อัปเดตมาใช้ macOS Big Sur กันแล้ว อาจจะพบปัญหาที่ส่งผลต่อการใช้งาน เรามาชมกันว่า 10 ปัญหาที่ทั่วไปที่ผู้ใช้มักจะพบมีอะไรบ้าง และมีวิธีแก้ไขเบื้องต้นอย่างไร

10 ปัญหาทั่วไปที่พบใน macOS Big Sur พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น

1. แบตเตอรี่หมดเร็วเกินไป

ผู้ใช้บางคนพบว่าแบตเตอรี่ MacBook หมดเร็วกว่าที่เคยหลังจากอัปเดตเป็น macOS Big Sur อาจจะเป็นเพราะว่ามีแอปทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก หรือไม่ก็แบตเตอรี่เริ่มเสื่อม ซึ่งเราสามารถเช็คการใช้งานแบตเตอรี่ได้

อย่างแรกให้เราไปเช็คก่อนกว่าแอปไหนมีการใช้พลังงานเยอะ โดยไปที่ Spotlight Search พิมพ์คำว่า Activity Mornitor > เลือกแถบ Energy แล้วก็ดูว่าแอปไหนใช้พลังงานเยอะ ที่ค่า Energy Impact หากพบว่ามีแอปที่เปิดไว้แต่ไม่ได้ใช้งานแล้วมีการใช้พลังงาน ก็แนะนำให้ปิดแอป

หากพบว่ามีแอปที่เราไม่ได้ใช้งานในปัจจุบันทำงานอยู่เบื้องหลังก็แนะนำว่าให้ปิดแอปนั้นให้เรียบร้อย

ต่อมาเป็นวิธีการเช็คดูว่าแบตเตอรี่ของ MacBook เราเสื่อมแล้วหรือยัง โดยไปที่ System Preferences > Battery > แถบ Battery > คลิก Battery Health > ดู Battery Condition

ถ้าหาก Condition เป็น Normal แสดงว่าแบตเตอรี่ของเรายังปกติดี ยังไม่เสื่อม โดยแยกได้ดังนี้

  1. Normal : แบตเตอรี่ทำงานปกติ
  2. Replace Soon : แบตเตอรี่ทำงานปกติ แต่เก็บประจุไฟฟ้าได้น้อยกว่าเดิมเมื่อเทียบกับตอนได้เครื่องมาใหม่ ๆ แนะนำให้เปลี่ยนในเร็ว ๆ นี้
  3. Replace Now : แบตเตอรี่ทำงานปกติ แต่ว่าเก็บประจุไฟฟ้าได้น้อยกว่ามาตรฐานมาก ๆ ผู้ใช้ยังคงใช้งานได้โดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเครื่องจนกว่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่
  4. Service Battery : แบตเตอรี่ทำงานไม่ปกติ ซึ่งอาจจะชาร์จไฟไม่เข้าหรือแบตเตอรี่ไม่เก็บประจุไฟฟ้า แนะนำให้เปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่โดยเร็วที่สุด แต่ทั้งนี้ระบบยังทำงานได้อยู่แต่ต้องใช้สายชาร์จควบคู่กันไป

2. การชาร์จแบตเตอรี่ช้า

อีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ใช้ MacBook พบและบ่นกันอยู่บ่อย ๆ ก็คือการชาร์จแบตเตอรี่ใช้เวลานานกว่าเดิม เนื่องจากใน macOS Catalina 10.15.5 ได้เพิ่มฟีเจอร์ การชาร์จเพื่อถนอมแบตเตอรี่ (Optimized Battery Charging) เข้ามา เพือช่วยยืดอายุของแบตเตอรี่ให้ใช้ได้ยางนานมากขึ้น ป้องกันการเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่ได้

ซึ่งฟีเจอร์นี้จะเรียนรู้รูปแบบการชาร์จแบตเตอรี่ของผู้ใช้ และจะรักษาสภาพแบตเตอรี่ด้วยการชาร์จ MacBook ไม่ให้เต็ม 100% โดยหากเครื่องชาร์จถึง 80% เครื่องก็จะวิเคราะห์และตัดสินใจใช้เวลาการชาร์จที่นานขึ้นหรือขึ้นว่า Not Charge ทั้งที่แบตเตอรี่ยังไม่เต็ม 100%

ฟีเจอร์การชาร์จเพื่อถนอมแบตเตอรี่เป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์ แต่บางคนอาจจะไม่ชอบ เพราะ MacBook ชาร์จแบตไม่เต็มสักที ก็สามารถเข้าไปปิดการตั้งค่าได้ ไปที่ System Preferences > Battery > แถบ Battery > ติ๊ก Optimized battery charging ออก

3. Menu Bar และ Dock หายไป

หลังจากที่อัปเดตเป็น macOS Big Sur แล้ว บางการตั้งค่าอาจมีการเปลี่ยนแปลง และสิ่งหนึ่งที่พบก็คือ Menu Bar ด้านบนและ Dock หายไป ไม่ต้องตกใจ เพราะเราสามารถตั้งค่าการแสดงผลได้

ไปที่ System Preferences > Dock & Menu Bar > ติ๊ก Automatically hide and show the Dock ออกและติ๊ก Automatically hide and show the menu bar ออก

4. ปิดการเปิดแอปที่ไม่ได้ใช้งานอัตโนมัติ

หลังจากการอัปเดตซอฟต์แวร์ครั้งใหญ่ แอปบางตัวจะเปิดตัวเองโดยอัตโนมัติเมื่อเราเริ่มเปิดเครื่องหรือล็อกอินเข้าเครื่อง Mac ถึงแม้ว่าแอปบางตัวอาจจะเป็นแอปที่มีประโยชน์ แต่ถ้าหากเราไม่ได้ใช้งานบ่อยก็แนะนำให้หยุดการทำงานของแอปเหล่านั้นได้

ไปที่ System Preferences > Users & Groups > เลือก User ที่เราใช้งานอยู่ > แถบ Login Item > คลิกที่แอป แล้วคลิกไอคอน – (ลบ)

5. เครื่องทำงานช้า

หลังจากที่เราอัปเดตซอฟต์แวร์แล้ว เป็นไปได้ว่า Mac อาจทำงานช้าปกติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะ Mac กำลังปรับระบบให้เหมาะสมและจะกลับมาใช้งานได้เร็วปกติหลังจากนั้นสักครู่ แต่ถ้าหากเราใช้งานไปแล้ว 2-3 วัน เครื่องยังคงทำงานช้า ให้เราลองรีสตาร์ทเครื่อง และดูว่ายังช้าอยู่หรือไม่ ถ้าหากว่ายังคงช้าผิดปกติ แนะนำให้ปิดการทำงานเบื้องหลังบางแอปดังที่แนะนำไปในข้อที่ 4

หรืออาจจะลองเข้าไปเช็คดูว่าซอฟต์แวร์ของเราอัปเดตเป็น macOS เวอร์ชันล่าสุดแล้วหรือยัง โดยเช็คได้ที่ หากมีการอัปเดตก็แนะนำให้อัปเดต macOS ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด เนื่องจากการปล่อยอัปเดตมักจะมีการแก้ไขข้อผิดพลาดและปรับปรุงประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ เรายังสามารถเข้าไปเช็ค Activity Monitor เพื่อเช็คดูการทำงานของแอป และดูว่าแอปไหนใช้ทรัพยากรเครื่องมากที่สุด ถ้าหากเราเห็นว่ามีแอปที่ใช้ทรัพยากร CPU และ Memory เยอะเกินไปก็อาจจะต้องปิดแอปเหล่านั้นก่อน บางครั้งการใช้ทรัพยากรเครื่องเยอะอาจจะเป็นข้อผิดพลาดจากแอป เราอาจจะต้องรอให้ทางผู้พัฒนาปล่อยอัปเดตแก้ไข

6. แอปหน่วงและค้าง

การปล่อยอัปเดต macOS เวอร์ชันใหม่บางครั้งก็อาจจะส่งผลกับการทำงานของแอปด้วย เช่น แอปค้าง ทำงานไม่ได้ แอปช้า แอปเด้ง กระตุกหรือหน่วงกว่าปกติ ดังนั้นหากเราพบปัญหาการทำงานของแอปไม่เหมือนเดิมหรือผิดปกติ ให้เราลองเข้าไปเช็คที่ App Store ดูว่าได้ทำการอัปเดตแอปเป็นเวอร์ชันล่าสุดแล้วหรือยัง

ส่วนใครที่ใช้ Mac รุ่นชิป M1 แล้วพบปัญหาแอปทำงานผิดปกติ ก็อาจจะต้องเช็คดูก่อนว่าแอปเหล่านั้นรองรับการทำงานบนชิป M1 แล้วหรือยัง [ชมวิธีการเช็คแอปสำหรับ Mac รุ่นชิป M1]

7. สั่งปริ้นไม่ได้

หากเราพบปัญหาหลังจากอัปเดต macOS Big Sur แล้วไม่สามารถใช้งานเครื่องพิมพ์หรือปริ้นเอกสารไม่ได้ ขั้นตอนแรกแนะนำให้เราเปิดหรือปิดเครื่องปริ้นใหม่ ถ้าหากยังใช้งานไม่ได้ ก็อาจจะต้องถอนการติดตั้งแล้วติดตั้งเครื่องพิมพ์ใหม่

การถอนการติดตั้งเครื่องพิมพ์ ทำได้โดยไปที่ System Preferences > Printer & Scanner > เลือกเครื่องปริ้นด้านซ้าย แล้วคลิกไอคอน – (ลบ)

8. ลงชื่อเข้าใช้เครื่องไม่ได้หลังอัปเดตซอฟต์แวร์

หลังจากที่อัปเดตซอฟต์แวร์ใหม่เป็นไปได้ว่า เราอาจจะลงเข้าใช้เครื่องไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการ Touch ID หรือการกรอกรหัสผ่าน แนะนำว่าให้เราทำการรีเซ็ตแบบ System Manager Controller (SMC) ซึ่งแต่ละรุ่นก็มีวิธีการรีเซ็ต SMC ที่แตกต่างกัน [ชมวิธีรีเซ็ต SMC ได้ที่ Apple Support]

9. มีปัญหาการเชื่อมต่อ Wi-Fi

หากเราพบปัญหาการเชื่อมกับ Wi-Fi โดย Mac ไม่สามารถเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ได้ สิ่งแรกที่แนะนำก็คือให้เรารีเซ็ตเราเตอร์ก่อน และลองเชื่อมต่อ Wi-Fi อีกครั้ง

หากยังไม่สามารถเชื่อมต่อได้ ให้เราลบการเชื่อมต่อ Wi-Fi และลองเชื่อมต่ออีกครั้ง ไปที่ System Preferences > Network > เลือกเครือข่าย แล้วคลิกไอคอน – (ลบ) เมื่อลบแล้วก็ลองรีสตาร์ทเครื่องและใช้งานอีกครั้ง

10. มีปัญหาการเชื่อมต่อ Bluetooth

ถ้าหากใครที่พบปัญหาการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริม Bluetooth ไม่สามารถเชื่อมต่อใช้งานได้ แนะนำว่าให้ลองรีเซ็ตโมดูลบลูทูธก่อน

ให้กดปุ่ม Option และ Shift บนคีย์บอร์ดค้างไว้ แล้วคลิกไอคอน Bluetooth บน Menu Bar โดยไม่ต้องเอามือออกจากสองปุ่มก่อนหน้า > เลือกตัวเลือก Reset the Bluetooth module > Ok จากนั้นก็ลือกเชื่อมต่ออปุกรณ์อีกครั้ง

หากยังไม่ได้ผล แนะนำว่าให้ลบรายการอุปกรณ์บลูทูธที่เคยเชื่อมต่อไปแล้ว ทำได้โดยไปที่ Finders > ส่วน Locations ให้เลือก Macintosh HD > เลือกโฟลเดอร์ Library > เลือกโฟลเดอร์ Preferences > ค้นหา com.apple.Bluetooth.plist ในโฟลเดอร์ Preferences > เมื่อเจอไฟล์แล้ว ก็สามารถลบได้เลย จากนั้นก็รีสตาร์ท Mac แล้วเชื่อมต่อบลูทูธอีกครั้ง

และนี่ก็เป็นปัญหาทั่วไปที่ผู้ใช้ Mac ส่วนใหญ่อาจจะพบและทำให้การใช้งานติดขัด ก็สามารถแก้ไขด้วยวิธีที่แนะนำไปเบื้องต้นได้เลยนะคะ

ขอบคุณ idropnews

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย Zakura Kim

Bachelor degree of science, Software engineering major, Payap University