Ram Hospital X Apple Cover2
in , ,

รพ. รามคำแหง(กรุ๊ป) ใช้ iPad, iPod touch กว่า 2,450 เครื่องเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ

บทความพิเศษฉบับนี้พาเยี่ยมชม รพ. รามคำแหง ซึ่งจัดว่าเป็นโรงพยาบาลที่ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาให้ระบบบริการดีขึ้น รวดเร็ว แม่นยำมากขึ้น และที่นี่ก็เรียกได้ว่าขนอุปกรณ์ของ Apple ไม่ว่าจะเป็น iPad, iPod touch มาใช้งานมากกว่า 2,450 เครื่องเลยทีเดียว ทำไมต้องใช้เยอะขนาดนั้น แล้วอุปกรณ์เหล่านี้ใช้งานการแพทย์อย่างไรบ้าง

รพ. รามคำแหง(กรุ๊ป) ใช้ iPad, iPod touch กว่า 2,450 เครื่องเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ

Ram Hospital X Apple 2020 2009

ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุก ๆ วงการ ซึ่งทางการแพทย์นั้นก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ต้องมีการปรับตัวในเรื่องนี้, ทีมงาน iMoD ได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงพยาบาลรามคำแหง ซึ่งจัดได้ว่าเป็นโรงพยาบาลอันดับต้น ๆ ของประเทศ ที่ทำ Digital Transformation ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโดยการต่อยอดจากสิ่งเดิมที่มีและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพิ่มเข้าไป เรามาชมกันว่าในปี 2020 นี้ ที่โรงพยาบาลแห่งนี้มีอัปเดตด้านเทคโนโลยีในการรักษาและให้บริการผู้ป่วยอย่างไรบ้าง

1. เกริ่นนำ…

บทความนี้จะพูดในมุมมองของคนสายไอทีที่วางตัวว่าเราคือ “ผู้ใช้บริการโรงพยาบาลรายหนึ่ง” ที่มีโอกาสได้เห็นว่า ณ ปัจจุบัน โรงพยาบาล (เอกชน) ได้ลงทุนอย่างไรบ้างกับระบบ “ไอที” ที่เป็นคำสั้น ๆ แต่มันคือสิ่งที่สำคัญมาก ๆ โดยจะไม่ได้เน้นในเรื่องการรักษาทางการแพทย์นะครับ เดี๋ยวจะยาวเกินไป

2. โรงพยาบาลกับระบบไอทีเปรียบเหมือน “กิ่งทองกับใบหยก” ที่ต้องมีคู่กัน

Ram Hospital X Apple 2020 2 88

เดิมที (อาจจะรวมถึงปัจจุบันในหลาย ๆ โรงพยาบาล) การเก็บข้อมูลของคนไข้จะใช้ระบบแฟ้มเอกสาร ที่ต้องกรอกข้อมูลต่าง ๆ ลงไว้ในนั้น และในแต่ละวันลองคิดดูว่ามีคนไข้มาใช้บริการเท่าไหร่ ถ้าโรงพยาบาลใหญ่ ๆ มีถึงพันคนอย่างแน่นอนและรู้หรือไม่ว่า

ขั้นตอนที่กินเวลาของบุคลากรทางการแพทย์ไปมากนั่นคือ การค้นหาแฟ้มประวัติคนไข้ ถ้า 1 แฟ้มต้องใช้เวลาเฉลี่ย 5-10 นาทีในการค้นหาหรืออาจจะนานกว่านั้น ลองคิดดูว่า 1 วัน, 1 เดือน หรือ 1 ปี โรงพยาบาลแห่งนั้นจะเสียเวลาไปกับจุดนี้นานเท่าไหร่

นี่ยังไม่รวมเรื่องการเดินแฟ้ม ส่งแฟ้มไปที่ตึกต่าง ๆ ที่คนไข้ต้องไปตรวจและรวมไปถึงเรื่องแฟ้มหายอีก, หรือการอ่านลายมือหมอไม่ออก ส่งผลให้จ่ายยาผิด ฯลฯ ยิ่งวุ่นไปใหญ่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ควรมาอยู่ในระบบออนไลน์ได้แล้ว

ที่โรงพยาบาลรามคำแหงได้เล็งเห็นปัญหาจุดนี้และได้เริ่มจริงจังกับการนำระบบไอทีมาแทนที่ระบบเดิมโดยมีจุดประสงค์หลัก ๆ คือ

การรักษาผู้ป่วยต้องต่อสู้กับเวลา ระบบไอทีช่วยให้ชี้ความเป็นความตายของคนไข้ได้ โดยตั้งเป้าว่าระบบต้องทำงานได้อย่างรวดเร็วถูกต้องแม่นยำ, ช่วยให้แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทำงานและตัดสินใจในการรักษารวดเร็วและทันเวลาครบถ้วนสมบูรณ์ทุกฝ่าย

จึงทำให้ในปัจจุบันที่โรงพยาบาลรามคำแหงนั้นมีการพัฒนาระบบไอที ทั้งด้านซอฟต์แวร์พร้อมกับอัปเกรดระบบฮาร์ดแวร์และเน็ตเวิร์กจนครบถ้วน ส่งผลให้ภาพรวมของการให้บริการนั้นรวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ สามารถให้บริการผู้ป่วยกว่า 2,200 คนต่อวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. ภาพรวมของระบบไอทีในโรงพยาบาลรามคำแหง

Ram Hospital X Apple 2020 1996

ระบบซอฟต์แวร์หลักของการจัดการข้อมูลในโรงพยาบาลแห่งนี้ประกอบไปด้วย

  • ระบบหลักคือ Hospital Information System หรือ HIS (เปรียบเสมือน iOS ของ iPhone) โดยระบบนี้จะเป็นตัวกลางในการจัดการและจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ในโรงพยาบาลเอาไว้ทั้งหมด เช่น เวชระเบียน, แพทย์, พยาบาล, เภสัชกร, การเงิน, ระบบ X-ray ฯลฯ อยู่ในนี้ทั้งหมด
  • แอปพลิเคชันสำหรับผู้ใช้จะแบ่งออกเป็น สำหรับบุคลากรในโรงพยาบาลและสำหรับผู้ป่วย ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป แต่เป้าหมายเดียวกันคือ เชื่อมการทำงานทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการเข้าด้วยกัน
  • แอปพลิเคชัน RAM SmartWard ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่แพทย์ พยาบาล และ บุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดการคำสั่งการรักษา และเข้าถึงข้อมูลของคนไข้ไม่ว่าจะเป็น ประวัติการรักษา การเจ็บป่วย ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ช่วยให้การวินิจฉัยโรค การติดตามการรักษา และการจ่ายยาทำได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการสื่อสารและอธิบายแนวทางในการรักษาแก่คนไข้เป็นไปอย่างสะดวกและเข้าใจได้ง่ายขึ้น
  • แอปพลิเคชัน RAM SmartOPD คือ แอปที่ช่วยจัดการ Patient Journey สำหรับผู้ป่วยนอก โดยสามารถบริหารข้อมูลคนไข้สำคัญ ตั้งแต่คนไข้เริ่มติดต่อที่แผนกเวชระเบียน การกรอกคัดกรองประเมินคนไข้ ข้อมูลตรวจวัดชีพจร บริหารคิวเพื่อเข้าพบแพทย์ การส่งต่อคนไข้ทำหัตถการ การบันทึกการรักษาต่างๆ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการ
  • ฝ่ายผู้รับบริการ (ผู้ป่วย) จะมีแอป RAM Hospital สำหรับดูข้อมูลต่าง ๆ เช่น คิวการรักษากรณีที่ไปตรวจรักษาเคสผู้ป่วยนอกว่าได้คิวที่เท่าไหร่และต้องเข้าตรวจกับแพทย์ท่านใด ฯลฯ ให้ผู้ป่วยได้ตรวจเช็คคิวได้ง่ายเผื่อต้องเดินไปธุระเช่นเข้าห้องน้ำ จะได้ไม่พลาดคิวและบริหารจัดการเวลาได้

เมื่อทุกระบบทำงานร่วมกันอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วพบว่าการให้บริการในภาพรวมเร็วขึ้น

4. ตัวอย่างรูปแบบการให้บริการ (Patient Journey) ที่โรงพยาบาลรามคำแหง

Ram Hospital X Apple 2020 2015

ผู้ป่วยที่มารับการรักษานั้นไม่ต้องไปที่งานเวชระเบียนเพียงที่เดียว แต่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้สามารถเข้าไปติดต่อได้ทุกเค้าท์เตอร์ เพราะระบบเชื่อมต่อกันไว้หมดแล้ว ในแง่การค้นหาข้อมูลประวัติคนไข้สามารถทำได้ในไม่กี่วินาที เมื่อดึงจากฐานข้อมูลกลาง สุดท้ายผู้ป่วยสามารถเข้ารับการวินิจฉัยและรับการรักษาได้ในเวลาไม่กี่นาที โดยไม่ต้องรอหลายชั่วโมง

Ram Hospital X Apple 2020 2024

เมื่อถึงคิวเรียกตรวจ ที่ห้องแรกพยาบาลจะเป็นผู้สอบถามข้อมูลเบื้องต้นและอาการของผู้ป่วย โดยจะมีแอปพลิเคชัน RAM SmartOPD ในการกรอกข้อมูล ผู้ป่วยสามารถเลือกกรอกผ่านแอปได้เลย โดยที่พยาบาลไม่ต้องมานั่งจดข้อมูลลงกระดาษให้เสียเวลา

Ram Hospital X Apple 2020 2062

ข้อมูลจากพยาบาลในขั้นที่ 2 จะส่งเข้าระบบและต่อไปคือหน้าที่ของแพทย์ที่จะดึงข้อมูลเหล่านั้นออกมาดู ซึ่งจะใช้วิธีการสแกนข้อมูลจาก QR Code ของคนไข้และกระดาษเพื่อยืนยันความถูกต้อง จากนั้นแพทย์จะสามารถตรวจวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยได้เลย ถ้าต้องสั่งยาไปยังเภสัชกร ทางแพทย์ผู้รักษาก็จะกรอกข้อมูลเข้าในระบบซึ่งแน่นอนว่าดีกว่าการเขียนจากลายมือแพทย์แน่นอน รายการสั่งยานั้นก็จะถูกส่งตรงไปยังห้องยา โดยไม่ต้องให้ผู้ป่วยถือใบสั่งยามาที่ห้องยาด้วยตัวเอง

Ram Hospital X Apple 2020 2063

สุดท้ายคือ ผู้ป่วยสามารถเดินไปชำระเงินและรับยา จากนั้นก็กลับบ้านได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพิ่ม Productivity ของโรงพยาบาลได้ดีเป็นอย่างมาก

5. แล้ว iPad, iPod touch นั้นเกี่ยวกับโรงพยาบาลรามคำแหงยังไง?

Ram Hospital X Apple 2020 2101

อย่างที่ได้บอกไปในขั้นตอนที่บอกว่ามีการพัฒนาแอปพลิเคชันอย่าง RAM SmartWard, RAM SmartOPD เพื่อให้แพทย์และพยาบาลได้ใช้นั้นก็ต้องบอกแบบนี้ครับว่า อุปกรณ์ที่โรงพยาบาลเลือกใช้ก็คือ iPad และ iPod touch ด้วยเหตุผลที่ว่า

  • iPad ช่วยให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ทำงานได้อย่างคล่องตัว เข้าถึงข้อมูลสำคัญของคนไข้ได้ทุกที่ ทุกเวลา มีความถูกต้อง แม่นยำ ลดขั้นตอนและเวลาการทำงานในหลาย ๆ ส่วน และที่สำคัญมีความปลอดภัยในการดูแลรักษาข้อมูลของคนไข้
  • ความสะดวกในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่พัฒนาตัวเดียวสามารถใช้งานได้ทุกอุปกรณ์ทั้ง iPad, iPod touch
  • อุปกรณ์ของ Apple พร้อมทั้งระบบ iOS, iPadOS มีความเสถียรและหากมีการอัปเกรดรุ่นใหม่ก็ยังสามารถใช้งานกับแอปรุ่นเก่า ๆ ได้ไม่เกิดปัญหา
  • ทาง Apple มีระบบ App Store สำหรับองค์กรให้ใช้งานซึ่งเพิ่มความสะดวกในการจัดการแอปภายในของโรงพยาบาล
  • Apple มีระบบจัดการอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ชื่อว่า Apple Business Manager มาช่วยให้ผู้ดูแลระบบไอทีจัดการอุปกรณ์ iDevice ได้ง่ายและสะดวก ซึ่งสามารถจัดการหลาย ๆ อุปกรณ์ได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและลดจำนวนคนที่ทำงานในจุดนี้ลง นั่นหมายถึงการลดต้นทุนลงนั่นเอง

Ram Hospital X Apple 2020 2173

ดังนั้น ทางโรงพยาบาลรามคำแหงและโรงพยาบาลในเครือของรามคำแหงกรุ๊ป อีก 6 แห่งได้แก่

  1. โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
  2. โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา
  3. โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม
  4. โรงพยาบาลลานนา
  5. โรงพยาบาลสุขุมวิท
  6. โรงพยาบาลขอนแก่นราม

จึงได้มีการใช้งาน iPad รวมกันทั้งหมดกว่า 2,000 เครื่อง และ iPod touch อีก 450 เครื่อง ควบคู่ไปกับแอปพลิเคชัน RAM SmartWard และ RAM SmartOPD ในการจัดเก็บ วิเคราะห์ข้อมูล บริหารการรักษา รวมถึงการจ่ายยาให้แก่คนไข้ และทำให้ภาพรวมในการให้บริการนั้นสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น จนทำให้เป็นอีกหน่ึงปัจจัยที่ทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติจาก JCI (Joint Commission International Standard Accreditation) สหรัฐอเมริกา หลายปีติดต่อกัน

Ram Hospital X Apple 2020 2191

ทั้งนี้นอกจากระบบซอฟต์แวร์พร้อมกับอุปกรณ์ iPad, iPod touch ที่กล่าวมาแล้วนั้น ระบบเครือข่ายและระบบอินเทอร์เน็ตก็สำคัญด้วย ทางโรงพยาบาลรามคำแหงก็ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่จะป้องกันไม่ให้ระบบล่ม จึงจำเป็นต้องทำระบบสำรองทั้งไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตเพื่อป้องกันหากเกิดว่าฝั่งใดฝั่งหนึ่งเสีย ก็ยังมั่นใจว่าระบบในโรงพยาบาลนั้นยังทำงานได้อยู่

นี่จึงถือว่าเป็นเคสตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นว่า การนำระบบไอทีมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาล สามารถทให้เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการมากยิ่งขึ้น

ซึ่งก็หวังว่าในทุก ๆ โรงพยาบาลของประเทศไทยของทางภาครัฐเองควรจะมีระบบนี้เอาไว้ใช้งาน พร้อมกับพัฒนาให้เท่าทันกับโรงพยาบาลเอกชน

ซึ่งภาษีของประชาชนไทยกว่า 68 ล้านคนแต่ละปีรวมกันกว่า 2 ล้านล้านบาท น่าจะไม่ใช่เรื่องยากที่จะนำเงินเหล่านั้นมาจัดสรรเป็นงบประมาณมาดูแลจุดนี้ เพราะผลประโยชน์ทั้งปวงก็จะตกแก่ประชาชนคนไทยทุกคน ให้ได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดี สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบัน

เกี่ยวกับโรงพยาบาลรามคำแหง

Ram Hospital X Apple 2020 2203

โรงพยาบาลรามคำแหงเป็นโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 486 เตียง ภายใต้การดูแลของ รามคำแหงกรุ๊ปที่ได้รับความไว้วางใจ ด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา บุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ตลอดทั้งมีคลินิกพิเศษเฉพาะทาง ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติจาก JCI (Joint commission international standard Accreditation) สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่ให้การรับรองคุณภาพโรงพยาบาลทั่วโลก โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลประมาณ 200 แห่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้ ความโดดเด่นของทีมแพทย์โรงพยาบาลรามคำแหงได้แก่ การมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้บริการรักษาครบทุกสาขาพิเศษ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและหลอดเลือด, ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมประสาทวิทยา, ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านการศัลยกรรมกระดูกและข้อ เป็นต้น

ผู้ให้ข้อมูล

นพ.สุธี ลีละเศรษฐกุล กรรมการบริหาร โรงพยาบาลรามคำแหง
คุณชัยยุทธ ตันประทุมวงษ์ กรรมการบริหารคอมพิวเตอร์และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย-พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โรงพยาบาลรามคำแหง

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย Attapon Thaphaengphan

ศิษย์เก่าวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม. ขอนแก่น ผู้ก่อตั้ง iPhoneMod.net ตั้งแต่ปี 2009
อดีต Dell Technical Support รู้จัก ​Apple เพราะ Macbook Pro และใช้ iPhone ตั้งแต่รุ่น 3G จนถึงปัจจุบัน