in

5G แบบ Ultra Wideband และ 5G แบบ mmWave คืออะไร ?

มาทำความรู้จัก ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ 5G เนื่องจากสมาร์ตโฟนในตลาดตอนนี้รองรับ 5G หมดแล้ว มากันว่า 5G mmWave และ Ultra Wideband คืออะไร จะได้ไม่สับสน

5G แตกต่างกว่า 4G/LTE และ 3G ยังไง?

ก่อนที่จะมีเทคโนโลยี 5G ให้เราได้ใช้ เราคงเคยใช้เทคโนโลยี 4G/LTE และ 3G กันมาแล้ว โดยประสิทธิภาพของสัญญาณ 4G/LTE และ 3G จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ห่างจากเสาสัญญาณมือถือของผู้ให้บริการขนาดไหน

ความถี่ที่ใช้ใน 4G/LTE และ 3G อยู่ในสเปกตรัมทั่วไปแบบเดียวกัน ดังนั้น ความแตกต่างในคุณภาพของการเชื่อมต่อของเราจากผู้ให้บริการรายหนึ่งไปยังอีกรายหนึ่งจะขึ้นอยู่กับจำนวนเสาสัญญาณของผู้ให้บริการเครือข่ายในระแวกที่เราอยู่นั่นเอง

บริการ 5G ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันทำงานผ่านช่องความถี่วิทยุที่กว้างกว่ามาก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้แต่ในประเทศไทย ผู้ให้บริการเครือข่ายได้พยายามนำ 5G มาเป็นบริการของตนเพื่อสร้างความได้เปรียบ เพราะจากพฤติกรรมของบริโภคที่ติดโซเชียลมีเดีย การเล่นเกม และการรับชมคอนเท้นต์ต่าง ๆ ต้องอาศัยความรวดเร็วของเครือข่าย ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็จะตอบโจทย์คนในยุคนี้ได้มากเท่านั้น

จุดเริ่มต้นของ 5G แบบ Ultra Wideband

เริ่มจากที่ AT&T (ผู้ให้บริการเครือข่ายฝั่งอเมริกา) พยายามสร้างแบรนด์ 5G เริ่มต้นใช้ชื่อเครือข่าย “5G Evolution” ที่อาจทำให้เข้าใจผิด เพราะนี่เป็นการรีแบรนด์เทคโนโลยี LTE ขั้นสูงแบบเดียวกับที่ผู้ให้บริการรายอื่นทำในตลอดตอนนั้น ดังนั้น “5G E” ของ AT&T ในตอนแรกนี้ไม่ใช่เทคโนโลยี 5G ซะทีเดียว

Verizon (ผู้ให้บริการเครือข่ายฝั่งอเมริกาเช่นกัน) เป็นผู้ให้บริการรายแรกที่นำเครือข่าย 5G มาใช้ได้สำเร็จ เริ่มต้นจากการใช้คลื่นความถี่สูงมาก (EHF) และสเปกตรัมคลื่นแบบมิลลิเมตร (mmWave) ระยะสั้นมาใช้ Verizon ได้ทำการปรับใช้สิ่งนี้ในใจกลางเมืองใหญ่ ๆ เพื่อทำให้เทคโนโลยี 5G สามารถใช้งานได้

verizon-5g

ในปี 2020 ทาง Apple ได้เชิญ Hans Vestberg CEO ของ Verizon ให้เข้าร่วมเวทีในงานเปิดตัว iPhone 12 ซึ่งในงานนี้ Apple ได้เปิดตัว iPhone ที่รองรับ 5G เครื่องแรก

อย่างไรก็ตาม เครือข่าย 5G แบบปกตินั้นสร้างขึ้นบนคลื่นความถี่ย่อย sub-6 GHz ที่ย่านความถี่ต่ำ ซึ่งหมายความว่าจะมีความช้ากว่าเครือข่ายแบบ mmWave ที่เร็วมากของ Verizon ดังนั้น เพื่อช่วยแยกแยะความแตกต่างของบริการ 5G ทั้งสองประเภท (5G (sub-6 GHz) กับ 5G Ultra Wideband) Verizon จึงได้สร้างชื่อใหม่สำหรับบริการ mmWave ที่เร็วกว่า 5G ปกติมาก โดยใช้ชื่อว่า “5G Ultra Wideband” นั่นเอง

สรุปง่าย ๆ ก็คือ 5G แบบ Ultra Wideband เป็น 5G แบบ mmWave ที่ให้ประสิทธิภาพการเชื่อมต่อสูง ความหน่วงต่ำ แบนด์วิธกว้างกว่า แต่ข้อเสียอย่างเดียวก็คือ mmWave เป็นคลื่นที่มีความยาวคลื่นค่อนข้างสั้น เหมาะกับการรับส่งข้อมูลในตัวเมืองใหญ่ ๆ ที่มีประชาอาศัยอยู่หนาแน่น ส่วนการรับส่งข้อมูลระยะไกลนั้น เทคโนโลยี 5G แบบธรรมดาน่าจะทำได้ดีกว่า

5G แบบ Ultra Wideband และเทคโนโลยี Ultra Wideband เหมือนกันหรือไม่ ?

5G แบบ Ultra Wideband เป็นเพียงชื่อที่ Verizon ใช้เรียกบริการ 5G mmWave ของตัวเองเท่านั้น อาจทำให้หลายคนสับสนกับคำว่า Ultra Wideband อยู่ มาดูกันว่า Ultra Wideband คืออะไรกันแน่ ?

Ultra Wideband เป็นเทคโนโลยีการรับส่งข้อมูลในระยะสั้น คล้าย Wi-Fi กับ Bluetooth ที่มีระยะทางการส่งข้อมูลที่จำกัด Ultra Wideband  นั้นมักอ้างถึงรูปแบบของเทคโนโลยีไร้สายที่สามารถส่งข้อมูลในระยะทางใกล้ ๆ มีแบนด์วิธกว้าง แต่ใช้พลังงานในการรับส่งข้อมูลระว่างอุปกรณ์ที่ต่ำ ทำให้ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน หมายถึงว่าเราสามารถส่งข้อมูลจำนวนมากในระยะทางที่สั้นและใช้พลังงานต่ำมากได้

ภายในไม่กี่ปีมานี้ หลาย ๆ บริษัทที่ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสมาร์ทโฟนก็ได้นำเทคโนโลยี Ultra Wideband มาใส่ไว้ในอุปกรณ์ของตน เช่น Apple ก็ได้นำชิป Ultra Wideband มาใส่ไว้ใน iPhone 11 เป็นครั้งแรก จากนั้นก็ได้ทยอยนำมาใส่ไว้ในอุปกรณ์ชิ้นต่อ ๆ มา เช่น iPhone รุ่นใหม่ ๆ และ AirTag นั่นเองค่ะ

ในประเทศไทยมี 5G แบบ Ultra Wideband (5G mmWave) หรือไม่ ?

สำหรับประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยี 5G mmWave ให้ได้ใช้งาน เนื่องจากว่าผู้ให้บริการยังคงเล็งเห็นว่าแค่ 5G (sub-6 GHz) ก็เพียงพอ และตอนนี้ก็อยู่ในช่วงที่ทำให้ 5G ครอบคลุมทุกพื้นที่ในไทยให้ครบก่อน ส่วน 5G mmWave ก็อาจเป็นเรื่องของอนาคต คาดว่าหากจะนำ 5G mmWave มาใช้ในไทยที่แรกน่าจะเป็นในเขตเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครเพราะว่าเป็นเมืองที่มีประชากรอยศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในประเทศนั่นเองค่ะ

ที่มา – digitaltrends

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย Nooknick Yanika

Humanities, English Literature
Chiangmai University