in ,

และแล้วก็มาถึงวันที่สิทธิบัตร MP3 หมดอายุ มาย้อนรอยดูต้นกำเนิดกัน

นับจากวันที่ 23 เมษายน 2017 ได้มีการยกเลิกลิขสิทธิ์ mp3 ของ Technicolor รวมถึงสิทธิบัตรและซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องของ Technicolor และ Fraunhofer IIS บางอย่าง นั่นหมายความว่า codec ที่ชื่อ .mp3 จะเป็นของฟรีไปตลอดกาล โดยหากใครใช้ลินุกซ์คงทราบดีว่าไม่สามารถเล่นไฟล์ MP3 ได้ทันทีหลังติดตั้งระบบปฎิบัติการ แต่สำหรับ Windows หรือ macOS ไม่ต้องห่วงเพราะ Microsoft และ Apple จ่ายแทนคุณไปเรียบร้อยแล้ว

MP3
MP3

MP3 คืออะไร

ชื่อย่อของ codec นี้ย่อมาจาก MPEG Audio Layer III เป็นมาตรฐานสำหรับการบีบอัดสัญญาณเสียง (เท่านั้น) ซึ่งทำให้เพลงมีขนาดเล็กโดยที่คุณภาพเสียงยังคงใกล้เคียงกับของเดิม โดยได้พลิกประวัติศาสตร์การฟังเพลงไปตลอดกาล

Fraunhofer
Fraunhofer

MP3 คิดค้นโดย Fraunhofer-Gesellshaft บริษัทสัญชาติเยอรมันที่ได้รับสิทธิบัตร “การเข้ารหัสดิจิตอล” โดยมีนักประดิษฐ์ชื่อว่า Bernhard Grill, Karl-Heinz Brandenburg, Thomas Sporer, Bernd Kurten และ Ernst Eberlein ซึ่งคุณไม่ต้องจำก็ได้เว้นแต่จะไปทำข้อสอบ

MP3 Team

โดยเริ่มมาจาก Karl-Heinz Brandenburg ผู้มีนามว่า “บิดาแห่ง MP3” เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาคณิตศาสตร์และอิเล็กทรอนิกส์ (นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าสาย IT เรียนคณิตศาสตร์ไปทำไม) ได้เริ่มคิดค้นวิธีการบีบอัดเพลงมาตั้งแต่ปี 1977 และล้มเหลวหลายครั้งจนแทบจะยกเลิกไป เนื่องจากเข้ารหัสไม่ได้ตามที่ต้องการ

การทำงานมีปัญหาตลอดแม้กระทั่งสองวันก่อนที่จะเปิดตัวเวอร์ชันแรกของ MP3 ก็ยังมีปัญหาอยู่เลย

แต่จนแล้วจนรอดกระทั่งปี 1989 ทางบริษัทฯ ก็ได้รับสิทธิบัตร MP3 มาครอบครอง และหลังจากนั้นปีนึง ก็มีการพัฒนา mp3player แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งเกือบสิบปีต่อมา 1997 ก็มีนักพัฒนา Tomislav Uzelac คิดค้นเครื่องเล่น MP3 สำเร็จเป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นหนึ่งปีก็มีการเปิดตัว Winamp ที่เราคุ้นเคยกันดี เนื่องจากโปรแกรมมันฟรี และไฟล์นี้ก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

Winamp
Winamp

และหลังจาก Windows 98 ก็มาพร้อมกับ Windows Media Player นั่นหมายความว่า Microsoft จ่ายค่าสิทธิบัตรไปแล้ว จึงสามารถเล่นไฟล์ .mp3 ได้เลยทันทีไม่ต้องพึ่ง Winamp และเมื่อวันเวลาผ่านไปความนิยมของโปรแกรมนี้ก็เริ่มลดลง

สุดท้ายนี้เจ้าของสิทธิบัตรเดิมสถาบัน Fraunhofer ก็ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนมาในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา (จ่ายให้เขาไปเถอะพัฒนากันมาเป็นสิบปี) ซึ่งในส่วนของผู้ใช้งานทั่วไปคงไม่ได้รู้สึกกระทบอะไรเท่าไหร่นัก เว้นแต่ใครที่เป็น Developer หรือผู้ใช้งานสาย Open Source อันนี้ดีใจด้วย

ไม่ว่าจะด้วยยุคสมัยหรืออะไรก็ตามแต่ ปัจจุบัน Advanced Audio Coding (AAC) ได้เริ่มเข้ามาแทนที่เนื่องจากคุณภาพเสียงที่ดีกว่า MP3 ที่มีอัตราบิตเหมือนกัน โดยเป็นรูปแบบเสียงเริ่มต้นหรือมาตรฐานสำหรับ YouTube, iPhone, Nintendo, iTunes, PlayStation, Android, และผู้ผลิตเครื่องเสียงในรถยนต์จำนวนมาก

ที่มา – fraunhoferthoughtco

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย yugioh2500

หากตรงไหนแปลหรือเขียนผิดสามารถชี้แนะได้ครับ
ติดต่อ-สอบถาม-พูดคุย-แลกเปลี่ยนกันได้ที่
Twitter: @yugioh2500